
ท่ามกลางสถานการณ์ภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ประกอบกับการกีดกันทางการค้าที่เกิดจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ ซึ่งบีบให้ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว Utility Green Tariff หรือที่เรียกย่อๆ ว่า UGT จึงเป็นก้าวสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ทุกฝ่ายต้องจับตามอง
Utility Green Tariff คืออะไร
Utility Green Tariff (UGT) คืออัตราค่าไฟของ “ไฟฟ้าสีเขียว” ซึ่งก็คือไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล ฯลฯ
โดยการซื้อจะได้ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน หรือเรียกสั้นๆ ว่า REC (ย่อมาจาก Renewable Energy Certificate) สำหรับใช้อ้างสิทธิ์การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนตามมาตรฐานสากล
สาเหตุที่มีการริเริ่มโครงการ Utility Green Tariff โดยทางภาครัฐขึ้นมา ส่วนหนึ่งก็เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีผลช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนจกอันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน
แต่อีกส่วนก็เพื่อเป็นการผลักดันประเทศไทยให้พร้อมรับมือกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ ซึ่งอาจมีผลในการกีดกันทางการค้า เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism, CBAM) รวมถึงเป็นการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่มีเงื่อนไขความต้องการในด้านพลังงานสะอาด
Utility Green Tariff มีกี่ประเภท
Utility Green Tariff หลักๆ แล้วจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
- UGT1 คือไฟฟ้าสีเขียวที่มุ่งเน้นให้ครอบคลุมผู้ใช้รายย่อย โดยจะไม่สามารถระบุเจาะจงแหล่งที่มาได้ กำหนดระยะเวลาสัญญาที่ 1 ปี เป็นการใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 7 แห่งที่มีอยู่เดิมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และราคาจะคำนวณจากอัตราค่าไฟฟ้าปกติบวกด้วยค่า Premium ซึ่งจะเป็นแบบเดียวกันทั่วประเทศ
- UGT2 คือไฟฟ้าสีเขียวที่เน้นผู้ใช้รายใหญ่ โดยจะสามารถระบุเจาะจงแหล่งที่มาได้ กำหนดระยะเวลาสัญญาขั้นต่ำ 10 ปี เป็นการใช้ไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ และราคาจะคำนวณจากต้นทุนการซื้อไฟฟ้าจากแหล่งที่ผู้ซื้อเลือก แล้วบวกด้วยค่าดำเนินการต่างๆ
โดยหากแบ่งผู้ใช้ตามเกณฑ์ของการไฟฟ้าแล้ว UGT1 ก็จะใช้ได้ทั้งสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง (ประเภท 3) กิจการขนาดใหญ่ (ประเภท 4) และกิจการเฉพาะอย่าง (ประเภท 5) เช่น โรงแรม หรือกิจการให้เช่าพักอาศัย ส่วน UGT2 นั้นจะใช้สำหรับกิจการขนาดใหญ่ (ประเภท 4) และกิจการเฉพาะอย่าง (ประเภท 5) เท่านั้น
ข้อดีของ Utility Green Tariff
การเกิดขึ้นของ Utility Green Tariff หรือ UGT ในไทยนั้นมีข้อดีต่างๆ ดังนี้
- ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด Utility Green Tariff มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดของภาคธุรกิจ ทั้งยังเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ภาคอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดมีการเติบโตมากขึ้น โดยในภาพรวมแล้ว หากมีการใช้พลังงานสะอาดแทนที่พลังงานฟอสซิลในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ก็จะมีผลช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนได้
- เพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจไทย การปรับตัวหันมาใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจไทย ยังมีความสำคัญต่อการหลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้าที่เกิดจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ หรือที่นิยมเรียกกันว่า “กำแพงสีเขียว” ทั้งยังมีผลทำให้เกิดการยอมรับในผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
- ดึงดูดการลงทุนจากธุรกิจต่างชาติ ด้วยความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น บ่อยครั้งธุรกิจต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนก็จะมีเงื่อนไขความต้องการในด้านพลังงานสะอาด ซึ่งหากประเทศไทยไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการตรงนี้ได้ ก็อาจนำไปสู่การสูญเสียโอกาส
- ส่งเสริมเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของไทย ประเทศไทยได้มีการกำหนดเป้าหมายหลังเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติ COP26 เมื่อปี 2021 ว่าจะเข้าสู่ Carbon Neutrality หรือ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ให้สำเร็จลุล่วงภายในปี 2050 และเข้าสู่ Net Zero หรือ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” ให้ได้ภายในปี 2065 ซึ่งการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดที่เกิดจาก Utility Green Tariff ก็จะมีส่วนช่วยในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้
ความท้าทายของ Utility Green Tariff
ในขณะเดียวกัน Utility Green Tariff หรือ UGT ก็จะต้องเผชิญกับความท้าทายในด้านต่างๆ ดังนี้
- การกำหนดราคาที่เหมาะสม หาก Utility Green Tariff มีราคาสูงเกินไป ก็อาจเกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ทำให้เกิดความสนใจลดลง และสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้น้อยกว่าที่ควร แต่หากมีราคาต่ำเกินไป ก็อาจก่อให้เกิดภาระหรือเกิดความจำกัดในการเติบโตสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและผู้ดำเนินการที่เกี่ยวข้อง
- การปรับตัวของภาคธุรกิจ ความสำเร็จของ Utility Green Tariff จะขึ้นอยู่กับการตื่นตัวและการปรับตัวของภาคธุรกิจเป็นสำคัญ ซึ่งก็ต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้ และการออกนโยบายสนับสนุนที่เพียงพอและเหมาะสม
- การบริหารจัดการความต้องการ ความต้องการในฝั่งของผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้าจะต้องสมดุลกัน หากมีความต้องการไฟฟ้ามากกว่าที่สามารถจัดสรรได้ หรือไม่สามารถหาผู้ซื้อได้อย่างเพียงพอ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา จึงควรมีนโยบายสนับสนุนที่เพียงพอสำหรับทั้ง 2 ฝ่าย
- การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี การมีโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่ดีพอจะเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตสำหรับภาคอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด รวมไปถึงอาจมีส่วนช่วยในการควบคุมต้นทุนและราคา การจัดสรรให้มีเงินลงทุนในด้านเหล่านี้อย่างเพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญ
- การกำหนดกฎระเบียบและนโยบายที่ชัดเจน การกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่ชัดเจนจะมีผลช่วยลดความกังวลของภาคธุรกิจ และจะช่วยให้การปรับตัวเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น
การเปิดขาย Utility Green Tariff ในไทย
สำหรับ UGT1 ทางการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ก็ได้เปิดให้ลงทะเบียนสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 2-24 มกราคม 2025 โดยมีการประกาศราคาตามค่าไฟปกติ รวมค่าไฟฟ้าตามสูตร Ft และมีค่าบริการส่วนเพิ่ม (ค่า Premium) อยู่ที่ 0.0594 บาทต่อหน่วย (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ส่วน UGT2 นั้น ทางสํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็ได้ประมาณการไว้ว่าจะเปิดดำเนินการประมาณช่วงกลางปี 2025 ซึ่งผู้ที่สนใจก็จะต้องติดตามข่าวสารในส่วนนี้ต่อไป
การซื้อ REC แยกจาก Utility Green Tariff
REC หรือ Renewable Energy Certificate คือใบรับรองพลังงานหมุนเวียน ซึ่งองค์กรต่างๆ สามารถซื้อและใช้อ้างสิทธิ์การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล ฯลฯ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญในการลด Carbon Footprint และการบรรลุเป้าหมายต่างๆ ในด้านสิ่งแวดล้อม เช่น RE100, Carbon Neutrality, Net Zero ฯลฯ
แม้ว่าโครงการ Utility Green Tariff โดยทางภาครัฐจะมาพร้อมกับใบรับรอง REC แต่องค์กรต่างๆ ก็สามารถเลือกที่จะซื้อ REC นอกโครงการด้วยตนเองได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็จะมีข้อดีที่สำคัญคือ มีความยืดหยุ่นสูงกว่าทั้งในแง่ของระยะเวลาสัญญาและการเลือกผู้ผลิต
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการซื้อขาย REC ในประเทศไทยนั้นยังเป็นภาคสมัครใจ ไม่มีการกำหนดราคากลาง ผู้ซื้อจึงเกิดความเสี่ยงว่าอาจต้องจ่ายแพงเกินควร นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีขั้นตอนของการค้นหาผู้ผลิต ตรวจสอบความน่าเชื่อถือและความพร้อม รวมถึงการเจรจาต่อรองที่มีความยุ่งยากและอาจต้องใช้เวลานานอีกด้วย
ในส่วนนี้ ทาง REC Thailand ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจัดหาใบรับรอง REC คุณภาพสูง ก็สามารถช่วยดูแลได้ครบทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ รวมถึงช่วยสืบข้อมูลราคาอย่างถี่ถ้วนจากบรรดาผู้ผลิตตามรายละเอียดความต้องการของผู้ซื้อ เพื่อให้ได้ REC ที่มีราคาเหมาะสม
REC Thailand ผู้ให้บริการชั้นนำด้าน REC ในไทย
REC Thailand เป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดหาและส่งมอบ REC ที่มีคุณภาพสูง ไม่ว่าองค์กรของท่านจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ผลิต มีเป้าหมาย Carbon Neutrality หรือ Net Zero Emissions หรือมีความต้องการเฉพาะในรูปแบบใด เราก็พร้อมที่จะให้คำปรึกษาและช่วยดูแลในทุกขั้นตอน มั่นใจได้ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี ในอุตสาหกรรมพลังงานผ่านหลายบริษัทในเครืออย่าง GMS Interneer และ GMS Solar
ที่ผ่านมา REC Thailand ได้ร่วมเคียงข้างหลากหลายองค์กรในการมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ผ่านการซื้อ REC โดยเราสามารถนำเสนอให้ได้ทุกเทคโนโลยีที่มีการผลิตในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ หรือพลังงานชีวมวล นอกจากนี้เรายังมีเครือข่ายโรงไฟฟ้าที่มีการขึ้นทะเบียนกับ I-REC ในหลากหลายประเทศ ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์
หรือหากองค์กรของท่านกำลังมองหา Carbon Credit เราก็สามารถจัดสรรให้ได้เช่นเดียวกันทั้งมาตรฐาน T-VER ของประเทศไทย หรือมาตรฐานระดับสากล เช่น Verra และ Gold Standard ครอบคลุมทั้งรูปแบบโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถติดต่อรับคำปรึกษาได้ที่ GMS Solar