Carbon Neutrality คืออะไร บรรลุเป้าหมายได้อย่างไร

Carbon Neutrality คืออะไร บรรลุเป้าหมายได้อย่างไร

ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น น้ำท่วม อากาศร้อนระอุ ภัยแล้ง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างผลกระทบจากภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่นับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น การใส่ใจตั้งเป้าหมายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่าง Carbon Neutrality และพยายามทำให้สำเร็จลุล่วง จึงได้กลายมาเป็นวาระเร่งด่วนสำหรับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในระดับองค์กรและระดับประเทศ

Carbon Neutrality คืออะไร

Carbon Neutrality หรือ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” คือสภาวะที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ โดยเกิดจากการสร้างสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการลด (Carbon Reduction) และชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) ทั้งนี้ก็เพื่อลดผลกระทบของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีต่อชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น องค์กร A ซึ่งมีเป้าหมาย Carbon Neutrality เริ่มต้นด้วยการสำรวจปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ขององค์กร จากนั้นก็วางแผนลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ลดหรือละบางกิจกรรมที่ไม่จำเป็น ใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรในส่วนต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพและสะอาดกว่าเดิม หันมาใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ ส่วนปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่ยังเหลืออยู่ ก็ชดเชยผ่านกิจกรรมโครงการลดคาร์บอนต่างๆ เช่น ปลูกป่า ลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ซื้อคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

หรืออาจสรุปเป้าหมาย Carbon Neutrality แบบง่ายๆ ได้ดังสมการ ปริมาณการปล่อยคาร์บอนขององค์กร – ปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่ปรับลดได้ – ปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่ชดเชยผ่านกิจกรรมต่างๆ = 0

คาร์บอนไดออกไซด์ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้อย่างไร

ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) คือการที่ก๊าซบางชนิดในชั้นบรรยากาศ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ป้องกันไม่ให้ความร้อนจากแสงอาทิตย์บางส่วนระบายออกนอกโลกไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและมีความจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เพราะจะช่วยให้อุณหภูมิในช่วงกลางคืนไม่ลดต่ำจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันและถ่านหิน รวมถึงการทำลายธรรมชาติที่มีส่วนช่วยกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น พืชและดิน ก็มีผลทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่มากเกินพอดีจนเกิดเป็นภาวะโลกร้อนตามมา

ทั้งนี้ ก๊าซที่มีคุณสมบัติก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก (เรียกรวมๆ ว่า ก๊าซเรือนกระจก) นอกจากคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ก็ยังมีอีกหลายชนิด เช่น มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ ไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะมีปริมาณการปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด รองลงมาก็คือก๊าซมีเทน

ก๊าซมีเทนแม้จะมีสัดส่วนปริมาณในชั้นบรรยากาศน้อยกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็จะมีการสะสมพลังงานความร้อนที่มากกว่าถึง 84 เท่า โดยก๊าซมีเทนนั้นจะเกิดได้ทั้งจากมนุษย์และธรรมชาติ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การเกษตรและปศุสัตว์ การย่อยสลายของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เป็นต้น

ข้อดีของ Carbon Neutrality

จากที่กล่าวมา การกำหนดเป้าหมาย Carbon Neutrality ซึ่งเป็นการพุ่งเป้าไปที่การสร้างสมดุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มีปริมาณการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ จึงเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้ โดยสามารถสรุปข้อดีในภาพรวมได้ดังนี้

  • ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม หนทางหลักอย่างหนึ่งสู่ Carbon Neutrality ก็คือการลดปริมาณการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ต้น ในภาพรวมจึงเป็นการช่วยส่งเสริมให้ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การใช้รถพลังงานน้ำมันหรือแก๊ส การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาขยะ เป็นต้น
  • กระตุ้นให้องค์กรต่างๆ มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ทิศทางเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการกระทำ กรณีของเป้าหมาย Carbon Neutrality ก็เช่นกัน ซึ่งหลายประเทศก็ได้มีการกำหนดเป้าหมายในภาพรวม และออกนโยบายที่บังคับหรือจูงใจให้องค์กรต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
  • ป้องกันการกีดกันทางการค้า ปัจจุบันหลายประเทศมีการออกมาตรการกีดกันสินค้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า “กำแพงสีเขียว” ซึ่งการกำหนดเป้าหมาย Carbon Neutrality ขององค์กรในภาคธุรกิจก็อาจมีส่วนช่วยป้องกันปัญหานี้ได้
  • สร้างแรงบันดาลใจในระดับบุคคล นอกจากในระดับองค์กรแล้ว กรอบแนวคิดและแนวทางปฏิบัติเรื่อง Carbon Neutrality ก็ยังทำให้หลายคนเกิดความตระหนักและเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
  • กระตุ้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ การกำหนดเป้าหมาย Carbon Neutrality ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีพลังงานสะอาด การดักจับคาร์บอน ฯลฯ
  • ส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน แนวคิดเรื่อง Carbon Neutrality มีส่วนช่วยส่งเสริมการใช้และการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก อย่างเช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ไฮโดรเจนสีเขียว ฯลฯ จึงมีผลทำให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานเพิ่มขึ้
  • สร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม ท้ายที่สุดแล้ว ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมก็จะก่อให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคมตามมา
  •  

Carbon Neutrality กับ Net Zero Emissions ต่างกันอย่างไร

หลายคนที่เคยผ่านหูกับคำว่า Net Zero Emissions หรือ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” อาจสงสัยว่าเมื่อเทียบกับ Carbon Neutrality (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) แล้วต่างกันอย่างไร และควรใช้เป้าหมายใดมากกว่ากัน

เบื้องต้นนั้น Carbon Neutrality กับ Net Zero Emissions จะมีหลักการที่คล้ายคลึงกัน คือสร้างสมดุลของก๊าซที่เป็นตัวการของภาวะโลกร้อนให้มีการปริมาณการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ แต่ Carbon Neutrality จะพุ่งเป้าไปที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก ในขณะที่ Net Zero Emissions จะให้ความสำคัญครอบคลุมก๊าซเรือนกระจกทุกชนิด

นอกจากนี้แล้ว Carbon Neutrality ก็มักจะพึ่งพาการชดเชยผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยลดคาร์บอนเป็นสำคัญ ในขณะที่ Net Zero Emissions จะให้น้ำหนักไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่แรกเป็นหลัก โดยทำควบคู่ไปกับการดูดกลับหรือดักจับก๊าซเรือนกระจกเป็นส่วนเสริม

โดยสรุปแล้ว Net Zero Emissions จะมีความครอบคลุมมากกว่า แต่ก็ทำได้ยากกว่า ซึ่งหากทำได้ก็จะก่อให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า Carbon Neutrality

สำหรับแนวทางการเลือกระหว่าง Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions นั้นก็จะต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมและข้อจำกัดของแต่ละองค์กร แต่ทั่วไปแล้ว องค์กรส่วนใหญ่จะมีเป้าหมายทั้งคู่ โดยมักเริ่มด้วย Carbon Neutrality เป็นอันดับแรก แล้วค่อยพัฒนาต่อยอดไปสู่ Net Zero Emissions ในภายหลัง คล้ายกันกับประเทศไทยเราที่ได้ประกาศเจตนารมย์ในการประชุมสหประชาชาติ COP26 ที่จะบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี 2065

ขั้นตอนการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality

การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ในระดับองค์กรจะมีขั้นตอนหลักๆ ดังนี้

  1. สำรวจปริมาณการปล่อยคาร์บอนขององค์กร สิ่งแรกที่ต้องรู้คือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดขององค์กร หรือที่เรียกว่า Carbon Footprint รวมถึงรายละเอียดว่าเกิดที่กิจกรรมใดเท่าไรบ้าง เพื่อให้สามารถวางแผนลดและชดเชยการปล่อยคาร์บอนได้ถูก
  2. ลดการปล่อยคาร์บอน เมื่อรู้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนขององค์กรแล้ว ต่อมาก็คือขั้นตอนของการวางแผนและดำเนินการเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน โดยสามารถทำได้ในหลายส่วน เช่น ลดการใช้ไฟฟ้า หันมาใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดมากขึ้น (ปัจจุบันสามารถทำได้โดยสะดวกด้วยการซื้อใบรับรอง REC) ส่งเสริมการทำงานจากที่บ้าน ส่งเสริมการใช้รถโดยสารสาธารณะ ส่งเสริมการใช้รถร่วมกัน หันมาใช้ระบบดิจิทัลแทนกระดาษ ฯลฯ
  3. ชดเชยการปล่อยคาร์บอน จากนั้นจึงค่อยวางแผนและดำเนินการในส่วนของการชดเชยการปล่อยคาร์บอน ซึ่งวิธีที่นิยมกันมากก็คือการซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการที่ผ่านการรับรอง
  4. ประเมินและรายงานผล การติดตามประเมินและรายงานผลตามกรอบที่เหมาะสมไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรเองเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ในระดับประเทศและระดับนานาชาติอีกด้วย

REC อีกหนึ่งตัวช่วยสู่ Carbon Neutrality

REC ย่อมาจาก Renewable Energy Certificate คือใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งองค์กรต่างๆ สามารถซื้อและใช้อ้างสิทธิ์การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ฯลฯ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions

การซื้อ REC มักจะเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่หลายองค์กรเลือกใช้ในการลดการปล่อยคาร์บอน ส่วนหนึ่งก็เพราะสามารถเริ่มต้นทำได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร อีกทั้งการทราบค่าการซื้อไฟฟ้าและการกำหนดเป้าหมายด้านพลังงานสะอาดที่ชัดเจนก็สามารถทำได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการซื้อขาย REC ในประเทศไทยนั้นยังเป็นภาคสมัครใจ ไม่มีการกำหนดราคากลาง ผู้ซื้อจึงเกิดความเสี่ยงว่าอาจต้องจ่ายแพงเกินควร นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีขั้นตอนของการค้นหาผู้ผลิต ตรวจสอบความน่าเชื่อถือและความพร้อม รวมถึงการเจรจาต่อรองที่มีความยุ่งยากและอาจต้องใช้เวลานานอีกด้วย

ในส่วนนี้ ทาง REC Thailand ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจัดหาใบรับรอง REC คุณภาพสูง ก็สามารถช่วยดูแลได้ครบทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ รวมถึงช่วยสืบข้อมูลราคาอย่างถี่ถ้วนจากบรรดาผู้ผลิตตามรายละเอียดความต้องการของผู้ซื้อ เพื่อให้ได้ REC ที่มีราคาเหมาะสม

REC Thailand ผู้ให้บริการชั้นนำด้าน REC

REC Thailand เป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดหาและส่งมอบ REC ที่มีคุณภาพสูง ไม่ว่าองค์กรของท่านจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ผลิต หรือมีความต้องการเฉพาะในรูปแบบใด เราก็พร้อมที่จะให้คำปรึกษาและช่วยดูแลในทุกขั้นตอน มั่นใจได้ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี ในอุตสาหกรรมพลังงานผ่านหลายบริษัทในเครืออย่าง GMS Interneer และ GMS Solar

ที่ผ่านมา REC Thailand ได้ร่วมเคียงข้างหลากหลายองค์กรในการมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ผ่านการซื้อ REC โดยเราสามารถนำเสนอให้ได้ทุกเทคโนโลยีที่มีการผลิตในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ หรือพลังงานชีวมวล นอกจากนี้เรายังมีเครือข่ายโรงไฟฟ้าที่มีการขึ้นทะเบียนกับ I-REC ในหลากหลายประเทศ ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

หรือหากองค์กรของท่านกำลังมองหาคาร์บอนเครดิต เราก็สามารถจัดสรรให้ได้เช่นเดียวกันทั้งมาตรฐาน T-VER ของประเทศไทย หรือมาตรฐานระดับสากล เช่น Verra และ Gold Standard ครอบคลุมทั้งรูปแบบโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถติดต่อรับคำปรึกษาได้ที่ GMS Solar

Scroll to Top