คาร์บอนเครดิตคืออะไร ซื้อขายอย่างไร รวมทุกเรื่องที่ต้องรู้

คาร์บอนเครดิตคืออะไร ซื้อขายอย่างไร รวมทุกเรื่องที่ต้องรู้

คาร์บอนเครดิต กลายมาเป็นสิ่งใกล้ตัวมากขึ้นในยุคที่หลายภาคส่วนหันมาใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสำหรับองค์กรที่มีเป้าหมาย Carbon Neutrality หรือ Net Zero Emissions การทำความเข้าใจว่าแท้จริงแล้วคาร์บอนเครดิตคืออะไร มีประโยชน์อะไรบ้าง ซื้อขายอย่างไร แล้วราคาเท่าไหร่ จึงล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่ควรรู้

คาร์บอนเครดิตคืออะไร

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือสิทธิ์ในปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดหรือกักเก็บไว้ได้ ผ่านโครงการต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งมีหน่วยวัดเป็น Tonnes of Carbon Dioxide Equivalent (tCO2e) เช่น

  • โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติ
  • โครงการปลูกป่าปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว
  • โครงการสร้างระบบกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  • โครงการสร้างระบบกักเก็บก๊าซมีเทน

โดยมีเงื่อนไขว่าโครงการเหล่านี้ต้องดำเนินงานตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และได้การรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจะได้รับคาร์บอนเครดิตที่สามารถนำไปใช้อ้างสิทธิ์เพื่อประโยชน์ขององค์กรต่อไปได้

ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายของคาร์บอนเครดิตก็เพื่อเป็นกลไกที่ช่วยส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นหนึ่งหนทางสำคัญในการต่อสู้กับวิกฤติภาวะโลกร้อนที่นับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

มาตรฐานคาร์บอนเครดิตมีอะไรบ้าง

ประเทศไทยมีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ซึ่งถูกพัฒนาและกำกับดูแลโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก. หรือ TGO) เป็นกลไกหลักในการรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งผู้พัฒนาโครงการที่ก่อให้เกิดการลดหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกในไทย ก็สามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนกับโครงการ T-VER นี้ได้ โดยทาง อบก. ก็จะเป็นผู้รับขึ้นทะเบียน ตรวจสอบรายละเอียด ติดตามผลดำเนินงานของโครงการ และรับรองคาร์บอนเครดิตให้

ส่วนในระดับสากลก็จะมีหลายมาตรฐาน โดยที่ได้รับความนิยมสูงก็ได้แก่ The Verified Carbon Standard (Verra) รองลงมาก็อย่างเช่น Clean Development Mechanism (CDM) และ Gold Standard (GS) ซึ่งแต่ละมาตรฐานก็จะมีเงื่อนไขการรับรองโครงการไม่เหมือนกัน ผู้พัฒนาจะต้องพิจารณาเลือกตามความเหมาะสม

ประโยชน์ของคาร์บอนเครดิต

ผู้พัฒนาโครงการเมื่อได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตเรียบร้อยแล้ว ก็จะสามารถขายให้กับองค์กรต่างๆ ได้ทั้งในและต่างประเทศ (ตามแต่มาตรฐานที่ได้รับ) ซึ่งด้วยต้นทุน Carbon Pricing ของไทยที่ยังไม่สูงมากนัก จึงมักได้รับความสนใจในตลาดต่างประเทศค่อนข้างมาก

ส่วนในมุมของผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตอย่างองค์กรภาคธุรกิจต่างๆ คาร์บอนเครดิตก็จะมีประโยชน์หลายประการ เช่น

  • ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กรสีเขียว แสดงถึงความรับผิดชอบและความเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม
  • ช่วยผลักดันให้บรรลุเป้าหมายทางด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร เช่น Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions
  • ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและเสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจในระดับสากล (ปัจจุบันหลายประเทศมีการออกมาตรการกีดกันสินค้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า “กำแพงสีเขียว” และหลายองค์กรก็มีการกดดันคู่ค้าใน Supply Chain ของตนถึงจุดนี้ด้วยเช่นกัน)
  • กรณีที่องค์กรทำโครงการสร้างคาร์บอนเครดิตเอง ก็เท่ากับเป็นการปรับเปลี่ยนสู่องค์กรสีเขียวอย่างยั่งยืน

คาร์บอนเครดิตซื้อขายอย่างไร

สิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือ มีเพียงคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการรับรองเท่านั้นที่สามารถซื้อขายในตลาดคาร์บอนได้ และประเภทของโครงการคาร์บอนเครดิตก็มีผลต่อเงื่อนไขในการซื้อขายด้วย

รู้จักกับตลาดคาร์บอนเครดิต

ตลาดคาร์บอนเครดิตเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เปิดให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเข้ามาซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะมีทั้งแบบภาคบังคับและภาคสมัครใจ แต่ในปัจจุบันประเทศไทยมีเพียงตลาดคาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจเท่านั้น

การเกิดขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิต นอกจากจะช่วยผลักดันกลไกคาร์บอนเครดิตให้เกิดความแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ฝ่ายผู้พัฒนาโครงการเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ในระยะยาวจึงเอื้อให้เกิดการเติบโต และเอื้อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในด้านเทคโนโลยีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น

การซื้อคาร์บอนเครดิต

ผู้ที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตสามารถเลือกซื้อได้ 2 แบบ แบบแรกคือติดต่อกับผู้พัฒนาโครงการที่เปิดขายคาร์บอนเครดิตโดยตรง นัดหมายเพื่อตกลงเรื่องราคาและปริมาณการซื้อขาย หากได้ข้อสรุปที่พึงพอใจทั้งสองฝ่ายก็ทำสัญญาซื้อขายและชำระเงินให้เรียบร้อย ที่เหลือจะเป็นฝ่ายผู้ขายดำเนินการให้ทั้งหมด ส่วนอีกแบบหนึ่งคือการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม FTIX Exchange ซึ่งมีค่าธรรมเนียมการซื้อขาย โดยเริ่มที่การสร้างบัญชีผู้ซื้อแล้วเข้าไปเสนอราคาซื้อในระบบ เมื่อมีผู้ขายที่เสนอราคาขายตรงกัน ระบบจะจับคู่และนำพาเข้าสู่ขั้นตอนการซื้อขายจนเสร็จสิ้น

การขายคาร์บอนเครดิต

ผู้ที่ต้องการขายคาร์บอนเครดิตก็สามารถเลือกวิธีขายได้ 2 แบบเช่นกัน แบบแรกคือติดต่อกับผู้ซื้อโดยตรง เมื่อตกลงเรื่องราคา ปริมาณซื้อขาย พร้อมทำสัญญา และผู้ซื้อชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ผู้ขายจะต้องส่งคำสั่งโอนหรือยกเลิกคาร์บอนเครดิตตามความประสงค์ของผู้ซื้อ โดยดำเนินการผ่านระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิต ส่วนอีกแบบหนึ่งก็คือการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม FTIX Exchange อาศัยการจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขายของระบบซึ่งสะดวกสบายมากกว่า

คาร์บอนเครดิตราคาเท่าไหร่

ราคาซื้อขายของคาร์บอนเครดิตจะแปรผันตามประเภทของโครงการคาร์บอนเครดิต รวมถึงขึ้นกับกลไกทางการตลาด ซึ่งก็คือความต้องการและอำนาจการต่อรองของผู้ซื้อและผู้ขาย นั่นหมายความว่าคาร์บอนเครดิตจะไม่มีราคาต่อหน่วยที่ตายตัว

สาเหตุที่ประเทศไทยไม่มีการกำหนดราคากลางเอาไว้ ส่วนหนึ่งก็เพราะการสะสมคาร์บอนเครดิตมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง และโครงการแต่ละประเภทก็มีรายละเอียดต่างกันมาก การวัดว่าราคากลางควรเป็นเท่าไรจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก ด้วยเหตุนี้ การซื้อขายที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งจึงอาศัยความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายเป็นหลัก แต่ก็สามารถดูสถิติราคาคร่าวๆ ได้จากหน้าเว็บไซต์ของ อบก.

REC อีกหนึ่งทางเลือกสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม

REC หรือ Renewable Energy Certificate คือใบรับรองปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ฯลฯ มีหน่วยเทียบคือ 1 REC = 1 MWh โดยองค์กรต่างๆ สามารถซื้อจากผู้ผลิตและใช้อ้างสิทธิ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้คล้ายกับคาร์บอนเครดิต

อย่างไรก็ตาม ความต่างจะอยู่ที่ REC ใช้อ้างสิทธิ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพียงใน Scope 2 เท่านั้น แต่คาร์บอนเครดิตจะใช้อ้างสิทธิ์ได้ครอบคลุมตั้งแต่ Scope 1-3 ตามรายละเอียดดังนี้

  • Scope 1 : การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง นับปริมาณการปล่อยก๊าซจากกิจกรรมที่อยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กร ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมภายในพื้นที่ เช่น กระบวนการผลิตสินค้า ยานพาหนะสำหรับขนส่งภายใน เป็นต้น
  • Scope 2 : การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากพลังงานที่ซื้อมาใช้ นับปริมาณการปล่อยก๊าซจากไฟฟ้าที่ผลิตจากภายนอก ซึ่งองค์กรได้ซื้อมาใช้ เช่น ไฟฟ้าสำหรับเดินเครื่องจักรภายในโรงงาน ไฟฟ้าสำหรับระบบทำความร้อน เป็นต้น
  • Scope 3 : การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากห่วงโซ่คุณค่า หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการปล่อยก๊าซภายนอกที่องค์กรไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การขนส่งวัตถุดิบจากแหล่งผลิตอื่นมายังโรงงาน การเดินทางของพนักงานในองค์กร เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้ REC จะใช้อ้างสิทธิ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ครอบคลุมน้อยกว่า แต่หลายๆ องค์กรกลับนิยมซื้อ REC มากกว่า เพราะสามารถเริ่มทำได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร รวมทั้งการทราบค่าการซื้อไฟฟ้าขององค์กรและการกำหนดเป้าหมายด้านพลังงานสะอาดที่ชัดเจนก็เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย

อ่านเพิ่มเติม : REC กับ Carbon Credit ต่างกันอย่างไร รวมทุกเรื่องที่ควรรู้

REC Thailand พร้อมดูแลทุกความต้องการ

REC Thailand เป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดหาและส่งมอบ REC คุณภาพสูง ไม่ว่าองค์กรของคุณจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ผลิต หรือมีความต้องการเฉพาะในรูปแบบใด เราก็พร้อมที่จะให้คำปรึกษาและช่วยดูแลในทุกขั้นตอน มั่นใจได้ด้วยประสบการณ์ในอุตสาหกรรมพลังงานกว่า 20 ปี ผ่านหลายบริษัทในเครืออย่าง GMS Interneer และ GMS Solar

ที่ผ่านมา REC Thailand ได้ร่วมเคียงข้างหลากหลายองค์กรในการแก้โจทย์ความต้องการด้านพลังงานสะอาด ผ่านการซื้อ REC โดยเราสามารถนำเสนอให้ได้ทุกเทคโนโลยีที่มีการผลิตในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ หรือพลังงานชีวมวล นอกจากนี้เรายังมีเครือข่ายโรงไฟฟ้าที่มีการขึ้นทะเบียนกับ I-REC หลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรือสิงคโปร์

หรือหากองค์กรของท่านกำลังมองหาคาร์บอนเครดิต เราก็สามารถจัดสรรให้ได้เช่นเดียวกัน ทั้งมาตรฐาน T-VER ของประเทศไทย หรือมาตรฐานสากล เช่น Verra และ Gold Standard ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบโครงการลดการปล่อยก๊าซหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ก็สามารถใช้บริการได้ที่ GMS Solar

Scroll to Top