
“พลังงานชีวมวล” หรือ “พลังงานชีวภาพ” แม้จะเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญ แต่ก็มักจะเป็นที่รู้จักน้อยกว่าพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ เนื่องจากมีรายละเอียดที่ซับซ้อน ทั้งยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงทั้งในด้านเม็ดเงินลงทุนและเทคโนโลยี
พลังงานชีวมวลคืออะไร
พลังงานชีวมวล (Biomass Energy) คือพลังงานที่ได้มาจากการแปรรูปวัสดุอินทรีย์ต่างๆ เช่น ไม้ ซากพืช ซากสัตว์ เศษอาหาร ฯลฯ ซึ่งถือเป็นพลังงานหมุนเวียนรูปแบบหนึ่ง เพราะสามารถเกิดขึ้นใหม่ได้เองภายในระยะเวลาไม่นาน
โดยธรรมชาติแล้ว พืชจะใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ให้เป็นสารอาหารในรูปคาร์โบไฮเดรต ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ส่วนสัตว์ก็จะย่อยพืชและสัตว์อื่นๆ ที่ถูกกินให้เป็นสารอาหาร และกักเก็บไว้ในรูปต่างๆ เช่น ไขมัน ไกลโคเจน ฯลฯ
กลไกการกักเก็บพลังงานตามธรรมชาติอย่างในกรณีเหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดแหล่งพลังงานอันมหาศาลที่สำคัญขึ้นมา ซึ่งก็คือวัสดุอินทรีย์ต่างๆ ที่มาจากพืชและสัตว์ โดยหากผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม ก็จะสามารถดึงพลังงานชีวมวลมาใช้ประโยชน์ได้
แหล่งพลังงานชีวมวลมีอะไรบ้าง
ตัวอย่างแหล่งพลังงานชีวมวลที่สำคัญก็ได้แก่
- ไม้และเศษไม้ ประมาณ 85% ของพลังงานชีวมวลที่ใช้ทั่วโลกจะมาจากไม้และเศษไม้ จึงนับว่าเป็นแหล่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งวิธีการที่ใช้ทั่วไปก็จะเป็นการเผาให้เกิดความร้อนเพื่อผลิตไอน้ำ แล้วใช้กังหันในการผลิตไฟฟ้าจากไอน้ำต่อ หรืออาจใช้วิธีบด อบ แล้วอัดให้เป็นเชื้อเพลิงในรูปชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pallet)
- เศษซากจากการเกษตร โดยมีแหล่งที่มาได้ทั้งจากพืชและสัตว์ เช่น ฟางข้าว ฟางข้าวโพด มูลสัตว์ เป็นต้น ซึ่งก็สามารถนำมาแปรรูปให้เกิดพลังงานชีวมวลได้หลายวิธี เช่น เผาเพื่อผลิตไอน้ำแล้วใช้กังหันผลิตไฟฟ้า หมักให้เกิดเป็นเอทานอล ใช้กระบวนการย่อยสลายโดยไม่ใช้ออกซิเจนเพื่อให้เกิดก๊าซมีเทน เป็นต้น
- พืชพลังงาน คือพืชที่นิยมนำมาใช้ทำพลังงานชีวมวล เช่น ข้าวโพด อ้อย ปาล์ม ทานตะวัน ถั่วเหลือง เป็นต้น โดยสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ เผาเพื่อผลิตไอน้ำแล้วใช้กังหันผลิตไฟฟ้า ให้ความร้อนในสภาวะที่มีออกซิเจนต่ำเพื่อผลิตก๊าซสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติเป็นเชื้อเพลิง หมักให้เกิดเป็นเอทานอล สกัดน้ำมันแล้วใช้กระบวนการทางเคมีเพื่อเปลี่ยนเป็นไบโอดีเซล เป็นต้น พืชพลังงานถือเป็นแหล่งพลังงานชีวมวลที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของไทย เนื่องด้วยความที่เป็นประเทศแห่งเกษตรกรรม ซึ่งก็ยังมีประโยชน์ในแง่ของการสร้างรายได้ให้กับชุมชน และการส่งเสริมการจัดการวัสดุเหลือใช้อย่างถูกวิธีอีกด้วย
- ขยะมูลฝอยจากชุมชน ขยะมูลฝอยที่ทิ้งกันทั่วไปก็จะมีวัสดุอินทรีย์ที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวลได้เช่นกัน โดยอาจนำเข้าโรงเผาเพื่อผลิตไอน้ำแล้วใช้กังหันในการผลิตไฟฟ้าต่อ หรือใช้วิธีฝังกลบแล้วค่อยนำก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นมาใช้
- สาหร่าย ด้วยจุดเด่นที่มีพลังงานสูง สาหร่ายจึงอาจถูกนำมาใช้ผลิตพลังงานชีวมวลผ่านหลายวิธีการ เช่น เผาเพื่อผลิตไอน้ำแล้วใช้กังหันผลิตไฟฟ้า สกัดน้ำมันมาทำเป็นไบโอดีเซล หมักส่วนคาร์โบไฮเดรตให้เป็นไบโอเอทานอลหรือบิวทานอล เป็นต้น
การใช้พลังงานชีวมวล
การใช้พลังงานชีวมวลจะแบ่งได้เป็น 3 แนวทางหลักๆ ได้แก่
- ใช้ผลิตความร้อน คือการใช้พลังงานชีวมวลในการผลิตความร้อนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยตรง เช่น นำวัสดุอินทรีย์เข้าเครื่องผลิตไอน้ำ (Boiler) เพื่อใช้สร้างความร้อนให้แก่อาคารในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น หรือใช้สร้างความร้อนสำหรับใช้ในกระบวนผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม
- ใช้ผลิตไฟฟ้า ส่วนมากจะเป็นการนำวัสดุอินทรีย์ไปเผาไหม้ในเครื่องผลิตไอน้ำ จากนั้นความดันไอน้ำก็จะถูกส่งไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันต่อไป
- ใช้ผลิตเชื้อเพลิง คือการนำวัสดุอินทรีย์ไปผ่านกระบวนการต่างๆ ให้เปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิง เช่น การอบและบดอัด การหมัก การสกัดน้ำมันและนำมาผ่านกระบวนการทางเคมี เป็นต้น โดยเชื้อเพลิงที่ได้จะมีทั้งในรูปของแข็ง (เช่น เชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง) ของเหลว (เช่น ไบโอดีเซล ไบโอเอทานอล และบิวทานอล) และก๊าซ (เช่น มีเทน และ Syngas)
ข้อดีของพลังงานชีวมวล
สาเหตุที่พลังงานชีวมวลได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เพราะข้อดีต่างๆ ดังนี้
- เป็นพลังงานหมุนเวียน แหล่งพลังงานชีวมวลสามารถเกิดขึ้นใหม่ได้เองภายในระยะเวลาไม่นาน เช่นเดียวกับแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ เป็นต้น จึงนับว่ามีความมั่นคงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ช่วยลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล การใช้พลังงานชีวมวลในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น จะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด และเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญได้ (เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันและถ่านหิน ต้องใช้ระยะเวลาในการเกิดนับล้านปี จึงไม่นับว่าเป็นพลังงานหมุนเวียน)
- ช่วยลดภาวะโลกร้อน พลังงานชีวมวลทั่วไปแล้วจะไม่ได้มีผลเสียต่อสมดุลวัฏจักรคาร์บอน ต่างจากพลังงานฟอสซิลที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยคาร์บอนซึ่งถูกกักไว้เป็นระยะเวลาหลายล้านปีสู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้แล้ว ในประเทศไทย โรงไฟฟ้าชีวมวลส่วนใหญ่ก็จะใช้เทคโนโลยีการเผาในระบบปิดร่วมกับระบบบำบัดมลพิษที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังผ่านการทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ พลังงานชีวมวลจึงนับว่ามีส่วนสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยลดภาวะโลกร้อน
- ช่วยลดฝุ่น PM2.5 พลังงานชีวมวลยังมีส่วนช่วยลดการเกิดฝุ่น PM2.5 เพราะจะช่วยลดการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง (โรงไฟฟ้าชีวมวลมักใช้การเผาในระบบปิดซึ่งมีเทคโนโลยีควบคุมมลพิษที่มีประสิทธิภาพ) และช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ที่สำคัญ
- มีความผันผวนต่ำ พลังงานชีวมวลมีข้อได้เปรียบสำคัญเหนือแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ อย่างแสงอาทิตย์และลมตรงที่มีความผันผวนต่ำ (แสงอาทิตย์จะขาดตอนในช่วงกลางคืนหรือช่วงที่มีเมฆมาก ส่วนลมก็จะมีช่วงที่กระแสลมสงบ) ทำให้อาจตอบโจทย์การใช้พลังงานในบางรูปแบบได้ดีกว่า
- ส่งเสริมการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างถูกวิธี การนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล จะมีผลช่วยลดการทิ้ง ฝังกลบ และเผาวัสดุเหล่านี้ในที่โล่งแจ้ง ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ยังสามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย
- ช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอย กรณีของการนำขยะมูลฝอยมาใช้ผลิตพลังงานชีวมวล ก็จะสามารถช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ฝังกลบได้ โดยอาจลดได้มากถึง 60-90%
- มีผลดีต่อรายงาน ESG กรณีที่ซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานชีวมวลผ่านการซื้อใบรับรอง REC ก็อาจสามารถระบุผลดีเพิ่มเติมในรายงาน ESG ได้ โดยเฉพาะหากเป็น REC ที่มาจากโรงไฟฟ้าชีวมวลในเครือข่ายของทาง GMS Solar ซึ่งได้รับเกียรติบัตรมากมายทั้งในด้านธุรกิจสีเขียว การลดการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงการจ้างงานที่เป็นธรรม
ข้อเสียของพลังงานชีวมวล
อย่างไรก็ตาม พลังงานชีวมวลก็จะมีข้อเสียและข้อจำกัดต่างๆ เช่น
- อาจมีการรับรู้ที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากพลังงานชีวมวลนั้นมีการใช้เทคโนโลยีและวัสดุที่หลากหลาย ซึ่งบางคนอาจติดภาพว่าพลังงานชีวมวลจะมาจากการเผาขยะ แต่ในประเทศไทย หากเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ได้รับการยอมรับจาก I-REC ก็ล้วนแล้วแต่มาจากเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น
- อาจมีความผันผวนจากฤดูกาล กรณีที่ใช้พืชพลังงานบางชนิดซึ่งเป็นพืชตามฤดูกาล ก็อาจทำให้ขาดวัตถุดิบในบางช่วงได้
- มีต้นทุนค่อนข้างสูง แม้พลังงานชีวมวลอาจมีต้นทุนถูกกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลบางรูปแบบ แต่ก็มักจะมีต้นทุนที่สูงกว่าพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งเป็นผลมาจากขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบ อาทิ การรวบรวม การขนส่ง การเตรียม การจัดเก็บ เป็นต้น
ตัวอย่างการผลิตและใช้พลังงานชีวมวลในไทย
ตัวอย่างการผลิตและการใช้พลังงานชีวมวลในไทยที่น่าสนใจก็อย่างเช่น
- กลุ่มบริษัทมิตรผล ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในประเทศไทยทั้งหมด 7 แห่ง อยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี สิงห์บุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ เลย และอยุธยา มีกำลังการผลิตรวม 463 เมกะวัตต์ สามารถส่งไฟฟ้าให้กับ กฟผ. และ กฟภ. ได้ถึง 197 เมกะวัตต์ โดยถือเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลรายใหญ่ที่สุดของเอเชีย นอกจากนี้แล้ว กลุ่มบริษัทมิตรผลก็ยังมีโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศจีน ประเทศลาว และประเทศออสเตรเลียอีกด้วย
- โรงงานผลิตผงชูรส “อายิโนะโมะโต๊ะ” ได้คิดค้นพัฒนากระบวนการจัดการวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยโรงงานในกำแพงเพชรและอยุธยา ได้ใช้หม้อต้มไอน้ำพลังงานชีวมวลซึ่งใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง ทำให้สามารถลดการใช้น้ำมันเตาได้ถึง 60 ล้านลิตรต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 1.7 แสนตันต่อปี
- โรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชนหนองฮี จังหวัดนครพนม ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยจีนและพันธมิตรท้องถิ่น ได้เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปลายปี 2021 โดยนำวัสดุอินทรีย์ เช่น ขยะมูลฝอย มาแปรรูปเป็นไฟฟ้า เป็นการสร้างงานและรายได้ให้กับชุมชน ส่งเสริมเงินออมให้กับกลุ่มออมทรัพย์ในพื้นที่ และยังเป็นการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
REC ทางเลือกการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล
แม้พลังงานชีวมวลจะมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ทั้งในแง่ของสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางพลังงาน แต่ก็มีอุปสรรคในการเข้าถึงทั้งในด้านเงินทุนและเทคโนโลยี ทำให้มักจะถูกมองข้ามโดยองค์กรต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ด้วยการเกิดขึ้นของ REC ที่ทำให้การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน กลายมาเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้โดยทุกองค์กร ปัจจุบันการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานชีวมวลจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
โดย REC นั้นย่อมากจาก Renewable Energy Certificate คือใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งองค์กรต่างๆ สามารถซื้อและใช้อ้างสิทธิ์การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวมถึงพลังงานชีวมวลได้ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญในการลด Carbon Footprint และการบรรลุเป้าหมายต่างๆ ในด้านสิ่งแวดล้อม เช่น RE100, Carbon Neutrality, Net Zero Emissions ฯลฯ
การซื้อ REC มักจะเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่หลายองค์กรเลือกใช้ในการลด Carbon Footprint ส่วนหนึ่งก็เพราะสามารถเริ่มต้นทำได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร อีกทั้งการทราบค่าการซื้อไฟฟ้าและการกำหนดเป้าหมายด้านพลังงานสะอาดที่ชัดเจนก็สามารถทำได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการซื้อขาย REC ในประเทศไทยนั้นยังเป็นภาคสมัครใจ ไม่มีการกำหนดราคากลาง ผู้ซื้อจึงเกิดความเสี่ยงว่าอาจต้องจ่ายแพงเกินควร นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีขั้นตอนของการค้นหาผู้ผลิต ตรวจสอบความน่าเชื่อถือและความพร้อม รวมถึงการเจรจาต่อรองที่มีความยุ่งยากและอาจต้องใช้เวลานานอีกด้วย
ในส่วนนี้ ทาง REC Thailand ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจัดหาใบรับรอง REC คุณภาพสูง ก็สามารถช่วยดูแลได้ครบทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ รวมถึงช่วยสืบข้อมูลราคาอย่างถี่ถ้วนจากบรรดาผู้ผลิตตามรายละเอียดความต้องการของผู้ซื้อ เพื่อให้ได้ REC ที่มีราคาเหมาะสม
บทสรุป
พลังงานชีวมวล หรือ พลังงานชีวภาพ (Biomass Energy) คือพลังงานที่ได้มาจากการแปรรูปวัสดุอินทรีย์ต่างๆ เช่น ไม้ ซากพืช ซากสัตว์ เศษอาหาร ฯลฯ ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สามารถช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางพลังงานได้เป็นอย่างดี โดยในปัจจุบันนั้น หากองค์กรต่างๆ ต้องการที่จะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานชีวมวล ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านการซื้อใบรับรอง REC โดยจะเป็นประโยชน์ทั้งสำหรับการลด Carbon Footprint และการบรรลุเป้าหมายต่างๆ ในด้านสิ่งแวดล้อม เช่น RE100, Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions
REC Thailand ผู้ให้บริการชั้นนำด้าน REC ในไทย
REC Thailand เป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดหาและส่งมอบ REC ที่มีคุณภาพสูง ไม่ว่าองค์กรของท่านจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ผลิต มีเป้าหมาย Carbon Neutrality หรือ Net Zero Emissions หรือมีความต้องการเฉพาะในรูปแบบใด เราก็พร้อมที่จะให้คำปรึกษาและช่วยดูแลในทุกขั้นตอน มั่นใจได้ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี ในอุตสาหกรรมพลังงานผ่านหลายบริษัทในเครืออย่าง GMS Interneer และ GMS Solar
ที่ผ่านมา REC Thailand ได้ร่วมเคียงข้างหลากหลายองค์กรในการมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ผ่านการซื้อ REC โดยเราสามารถนำเสนอให้ได้ทุกเทคโนโลยีที่มีการผลิตในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ หรือพลังงานชีวมวล นอกจากนี้เรายังมีเครือข่ายโรงไฟฟ้าที่มีการขึ้นทะเบียนกับ I-REC ในหลากหลายประเทศ ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์
หรือหากองค์กรของท่านกำลังมองหา Carbon Credit เราก็สามารถจัดสรรให้ได้เช่นเดียวกันทั้งมาตรฐาน T-VER ของประเทศไทย หรือมาตรฐานระดับสากล เช่น Verra และ Gold Standard ครอบคลุมทั้งรูปแบบโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถติดต่อรับคำปรึกษาได้ที่ GMS Solar