Carbon Offset หรือ การชดเชยคาร์บอน คืออะไร มีอะไรบ้าง

Carbon Offset หรือ การชดเชยคาร์บอน คืออะไร มีอะไรบ้าง

ก้าวสำคัญสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions เพื่อแก้วิกฤติภาวะโลกร้อนและโลกเดือดที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ คือลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุดทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับหลายๆ องค์กร การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกนั้นอาจทำได้ยากและต้องใช้เวลานาน เพราะต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนหลายๆ อย่าง Carbon Offset หรือ “การชดเชยคาร์บอน” จึงเป็นตัวช่วยการเปลี่ยนผ่านอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ

Carbon Offset คืออะไร

Carbon Offset หรือ “การชดเชยคาร์บอน” คือกลไกที่ช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง ผ่านกิจกรรมโครงการต่างๆ ที่มีผลช่วยลด เลี่ยง หรือกำจัดก๊าซเรือนกระจกนอกองค์กร โดยอาจดำเนินกิจกรรมโครงการเหล่านี้ด้วยตนเอง หรือเลือกที่จะซื้อ Carbon Credit จากผู้อื่นแทนก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น การจัดกิจกรรมในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นงาน Event หรืองานสัมมนาต่างๆ มักใช้คำว่า Low Carbon Event เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยอาจมีการใช้น้ำดื่มกล่องกระดาษ และภาชนะต่างๆ แบบย่อยสลายได้ง่าย หรือแม้แต่การไม่แจกถุงพลาสติกและหลอดพลาสติกในงาน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังมีส่วนช่วยปลูกฝังจิตสำนึกให้กับผู้ร่วมงานอีกด้วย

แต่หากต้องการให้เป็น Carbon Neutral Event หรือ “งาน Event ปลอดคาร์บอน” ก็จำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นจากการคำนวณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมนั้นๆ ก่อนว่ามีค่าเท่าใด จากนั้นจึงค่อยมองลึกลงไปเพื่อให้เห็นว่าส่วนใดในกิจกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีใด และจะลดค่าการปล่อยได้เท่าไร ซึ่งก๊าซเรือนกระจกส่วนที่เหลือก็สามารถชดเชยด้วย Carbon Offet โดยอาจทำผ่านการซื้อ Carbon Credit ในหน่วย TonCO2 ตามปริมาณที่ต้องการ

หรือในกรณีที่เป็นองค์กรซึ่งมีเป้าหมาย Carbon Neutrality หรือ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ก็จะต้องเริ่มที่การสำรวจปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร จากนั้นก็ดำเนินการลดการปล่อยคาร์บอนผ่านแนวทางต่างๆ เช่น กำหนดและดำเนินนโยบายประหยัดพลังงาน เพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาด ปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักร เป็นต้น ส่วนปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่ยังเหลืออยู่ก็จะต้องชดเชยผ่าน Carbon Offset เช่น ทำโครงการปลูกป่า ลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ซื้อ Carbon Credit เป็นต้น

กิจกรรมชดเชยคาร์บอนมีอะไรบ้าง

กิจกรรมชดเชยคาร์บอนหากแบ่งตามรูปแบบโครงการของ Carbon Credit จะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

1. โครงการลดคาร์บอน

โครงการลดคาร์บอน คือโครงการที่ดำเนินกิจกรรมในรูปแบบที่มีการปล่อยคาร์บอนลดลงเมื่อเทียบกับแบบเดิม เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเทียบกับโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงถ่านหิน โครงการรถยนต์ไฟฟ้าเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล หรือแม้แต่การปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน อย่างการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศจากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ แม้จะเป็นเครื่องปรับอากาศเหมือนกัน แต่สารทำความเย็นข้างในมีการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกลดลง ก็สามารถเป็นโครงการลดคาร์บอนได้

2. โครงการดักจับคาร์บอน

โครงการดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) คือโครงการที่มีการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกด้วยเทคโนโลยีและวิธีการต่างๆ ตัวอย่างวิธีธรรมชาติก็อย่างเช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองและการปลูกป่ารวมถึงป่าชายเลนและหญ้าทะเล ส่วนตัวอย่างที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็อย่างเช่น การผลิตเครื่องกักเก็บคาร์บอนในอากาศและการใช้เครื่องที่ช่วยกักเก็บก๊าซมีเทนจากการฝังกลบขยะในดิน ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา หากเราสามารถคิดค้นวิธีกักเก็บคาร์บอนเพิ่มเติมได้ ก็จะช่วยให้สามารถเข้าใกล้ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมไปอีกขั้น

Carbon Offset กับ Carbon Credit ต่างกันอย่างไร

แม้ Carbon Offset และ Carbon Credit จะมีบทบาทในการชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกเหมือนกันและมีความเกี่ยวข้องกัน แต่ก็มีความหมายที่ต่างกัน

ในขณะที่ Carbon Credit จะเป็นหนึ่งในวีธีการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการซื้อ Credit ในหน่วย TonCO2 จากผู้อื่น

Carbon Offset หรือ “การชดเชยคาร์บอน” นั้นจะเป็นกลไกที่ช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง ผ่านกิจกรรมโครงการนอกองค์กร เช่น ทำโครงการปลูกป่า ลงทุนในพลังงานสะอาด หรือการซื้อ Carbon Credit ก็เป็นหนทางหนึ่งที่สามารถทำได้

ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย ดีกว่าชดเชยทีหลังผ่าน Carbon Offset

จริงอยู่ว่า Carbon Offset หรือ “การชดเชยคาร์บอน” นั้นเป็นตัวช่วยในระยะต้นที่ดีในการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง Carbon Neutrality แต่อีกมุมหนึ่งก็ต้องไม่ลืมว่าการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดตั้งแต่แรกนั้นสร้างความยั่งยืนได้มากกว่า หากทุกองค์กรพึ่งพาแต่การชดเชยคาร์บอนเพียงอย่างเดียว สุดท้ายทั่วโลกก็ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดน้อยลง ส่งผลให้การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้นเป็นไปอย่างล่าช้ากว่าที่ควร

เพื่อแก้ปัญหานี้ องค์กรต่างๆ จึงควรให้ความใส่ใจกับการลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ตั้งแต่แรกด้วย โดยแนวทางที่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งก็คือการตั้งเป้าหมาย Net Zero Emissions หรือ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” ซึ่งจะให้น้ำหนักไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นหลัก และใช้การดูดกลับหรือกักเก็บเป็นเพียงส่วนเสริม

จากเหตุผลนี้ หลายๆ องค์กรก็เลือกที่จะตั้งเป้าหมายทั้ง Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions แต่เลือกที่จะบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ก่อน แล้วค่อยพัฒนาต่อยอดไปสู่ Net Zero Emissions ในภายหลัง เพื่อให้สามารถเข้าสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง

REC อีกหนึ่งตัวช่วยสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม

REC ย่อมาจาก Renewable Energy Certificate คือใบรับรองปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ฯลฯ ซึ่งองค์กรต่างๆ สามารถซื้อและใช้อ้างสิทธิ์การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดได้ โดยถือเป็นตัวช่วยที่ตอบโจทย์สำหรับองค์กรที่มีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น RE100, Carbon Neutrality, Net Zero Emissions หรือแม้กระทั่งองค์กรที่มีเป้าหมายเพียงต้องการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแค่บางส่วน

ด้วยข้อดีของ REC ที่มีความสะดวกและมีความยืดหยุ่นสูง องค์กรต่างๆ สามารถเริ่มต้นซื้อได้เลยโดยไม่ต้องคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ทั้งการทราบค่าการซื้อไฟฟ้าและการกำหนดเป้าหมายด้านพลังงานสะอาดที่ชัดเจนก็สามารถทำได้ง่าย REC จึงมักเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่หลายองค์กรเลือกใช้สำหรับการบรรลุเป้าหมายต่างๆ ในด้านสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการซื้อขาย REC ในประเทศไทยนั้นยังเป็นภาคสมัครใจ ไม่มีการกำหนดราคากลาง ผู้ซื้อจึงเกิดความเสี่ยงว่าอาจต้องจ่ายแพงเกินควร นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีขั้นตอนของการค้นหาผู้ผลิต ตรวจสอบความน่าเชื่อถือและความพร้อม รวมถึงการเจรจาต่อรองที่มีความยุ่งยากและอาจต้องใช้เวลานานอีกด้วย

ในส่วนนี้ ทาง REC Thailand ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจัดหาใบรับรอง REC คุณภาพสูง ก็สามารถช่วยดูแลได้ครบทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ รวมถึงช่วยสืบข้อมูลราคาอย่างถี่ถ้วนจากบรรดาผู้ผลิตตามรายละเอียดความต้องการของผู้ซื้อ เพื่อให้ได้ REC ที่มีราคาเหมาะสม

REC Thailand ผู้ให้บริการชั้นนำด้าน REC ในไทย

REC Thailand เป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดหาและส่งมอบ REC ที่มีคุณภาพสูง ไม่ว่าองค์กรของท่านจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ผลิต มีเป้าหมาย Carbon Neutrality หรือ Net Zero Emissions หรือมีความต้องการเฉพาะในรูปแบบใด เราก็พร้อมที่จะให้คำปรึกษาและช่วยดูแลในทุกขั้นตอน มั่นใจได้ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี ในอุตสาหกรรมพลังงานผ่านหลายบริษัทในเครืออย่าง GMS Interneer และ GMS Solar

ที่ผ่านมา REC Thailand ได้ร่วมเคียงข้างหลากหลายองค์กรในการมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ผ่านการซื้อ REC โดยเราสามารถนำเสนอให้ได้ทุกเทคโนโลยีที่มีการผลิตในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ หรือพลังงานชีวมวล นอกจากนี้เรายังมีเครือข่ายโรงไฟฟ้าที่มีการขึ้นทะเบียนกับ I-REC ในหลากหลายประเทศ ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

หรือหากองค์กรของท่านกำลังมองหา Carbon Credit เราก็สามารถจัดสรรให้ได้เช่นเดียวกันทั้งมาตรฐาน T-VER ของประเทศไทย หรือมาตรฐานระดับสากล เช่น Verra และ Gold Standard ครอบคลุมทั้งรูปแบบโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถติดต่อรับคำปรึกษาได้ที่ GMS Solar

Scroll to Top