ก๊าซเรือนกระจกคืออะไร มีอะไรบ้าง มีวิธีลดอย่างไร

ก๊าซเรือนกระจกคืออะไร มีอะไรบ้าง มีวิธีลดอย่างไร

ก๊าซเรือนกระจกไม่ได้มีแค่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหมือนอย่างที่หลายคนเข้าใจ ความเข้าใจผิดนี้อาจเป็นเพราะการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ซึ่งมักพุ่งเป้าไปที่การลดปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ แม้แต่คำศัพท์และแนวทางแก้ไขที่ใช้หลายครั้งก็ดูเหมือนว่าจะพูดถึงแต่คาร์บอนเท่านั้น เช่น คาร์บอนเครดิต การชดเชยและกักเก็บคาร์บอน เป็นต้น ซึ่งหากจะแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนให้ลุล่วง ก็จำเป็นจะต้องมีความเข้าใจในก๊าซเรือนกระจกอย่างครอบคลุมและถูกต้อง

ก๊าซเรือนกระจกคืออะไร

ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gasses) คือกลุ่มก๊าซในชั้นบรรยากาศซึ่งมีคุณสมบัติดูดซับและกักเก็บรังสีอินฟราเรดจากดวงอาทิตย์ ระหว่างกระบวนการดูดซับนี้จะมีการสูญเสียพลังงานความร้อนบางส่วนออกนอกโลก และส่วนที่เหลือจะถูกปล่อยสู่ผิวโลก

จากหลักการนี้ ก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นเหมือนเกราะป้องกันที่สำคัญ มีบทบาทในการควบคุมระดับอุณหภูมิของโลกให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต หากไม่มีเกราะป้องกันนี้ผิวโลกจะเย็นจัดจนไม่มีสิ่งมีชีวิตใดอยู่รอดได้

ก๊าซเรือนกระจกประกอบไปด้วยก๊าซหลายชนิด ซึ่งมีการเพิ่มขึ้นและลดลงตามวัฏจักรของก๊าซชนิดนั้น บางชนิดสามารถกระจายตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ยาวนานหลายร้อยปี ขณะที่บางชนิดกลับสลายไปจนหมดในช่วงไม่กี่ปีเท่านั้น และนี่ก็คือกระบวนการรักษาสมดุลตามธรรมชาติของชั้นบรรยากาศ

แต่ถ้ามีเหตุให้เกิดการสะสมก๊าซในปริมาณมากจนเสียสมดุล การกักเก็บพลังงานความร้อนก็จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น และเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่าสภาวะเรือนกระจก ซึ่งต่อเนื่องมาเป็นวิกฤติภาวะโลกร้อนและภาวะโลกเดือดดังที่เห็นกันในปัจจุบัน

ก๊าซเรือนกระจกเกิดจากอะไร

ก๊าซเรือนกระจกที่ต่างชนิดกันก็จะเกิดจากสาเหตุที่ต่างกัน แต่ในภาพรวมแล้วก็จะมีตัวอย่างสาเหตุหลักๆ ดังนี้

  • สาเหตุตามธรรมชาติ เช่น การหายใจของสิ่งมีชีวิต การย่อยสลายของสารอินทรีย์ กระบวนการต่างๆ ภายในดินและมหาสมุทร การระเบิดของภูเขาไฟ เป็นต้น ทั้งนี้ ก๊าซเรือนกระจกบางชนิดที่เกิดตามธรรมชาติก็ไม่ได้นับว่าเป็นปัญหา อย่างเช่นในกรณีของไอน้ำ เพราะสามารถเปลี่ยนรูปเป็นของเหลวได้ง่าย ทำให้อยู่ในชั้นบรรยากาศได้ไม่นาน
  • สาเหตุจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เกิดจากยานพาหนะ เครื่องจักรอุตสาหกรรม หรือการผลิตไฟฟ้า การปศุสัตว์และการเกษตร การตัดไม้ทำลายป่า ตลอดจนการใช้สารสังเคราะห์บางชนิด โดยเฉพาะในเชิงอุตสาหกรรม

ก๊าซเรือนกระจกมีอะไรบ้าง

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าก๊าซเรือนกระจกมีหลายชนิด แต่เมื่อต้องเชื่อมโยงกับประเด็นของวิกฤติภาวะโลกร้อนก็จะไม่ได้เหมารวมทั้งหมด แต่ให้น้ำหนักกับก๊าซที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก ปัจจุบันมีการกำหนดก๊าซเรือนกระจกที่ต้องนำมาพิจารณา 7 ชนิด ซึ่งแม้บางชนิดจะเกิดได้จากธรรมชาติด้วย แต่ทั้งหมดก็ล้วนเกิดได้จากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น

  1. ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีปริมาณการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด และสามารถคงอยู่ได้นานตั้งแต่ 5 ปีจนถึงหลายพันปี ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเกิดได้จากธรรมชาติ เช่น กระบวนการหายใจของสิ่งมีชีวิต การย่อยสลายของสารอินทรีย์ เป็นต้น และเกิดได้จากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งจากยานพาหนะ การผลิตของภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึงการผลิตไฟฟ้า รวมถึงจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งจะทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่พืชกักเก็บไว้ถูกปลดปล่อยออกมา
  2. ก๊าซมีเทน (CH4) เป็นก๊าซที่คงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ประมาณ 12 ปี มีปริมาณการปล่อยมากรองลงมาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่มีคุณสมบัติกักเก็บความร้อนได้สูงกว่าถึง 84 เท่า เกิดได้จากการย่อยสลายของสารอินทรีย์ จึงพบมากในกิจกรรมของมนุษย์จำพวกการปศุสัตว์และการเกษตร และบางส่วนยังเกิดได้จากกระบวนการผลิตของเชื้อเพลิงฟอสซิลและการฝังกลบขยะ ส่วนแหล่งธรรมชาตินั้นส่วนใหญ่จะมาจากพื้นที่ชุ่มน้ำและแหล่งน้ำจืดต่างๆ
  3. ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) เป็นก๊าซที่คงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ยาวนานกว่า 100 ปี ในส่วนของกิจกรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่จะมาจากภาคการเกษตร แต่บางส่วนก็จะมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงภาคอุตสาหกรรม ส่วนแหล่งธรรมชาตินั้นส่วนใหญ่จะมาจากดินและมหาสมุทร
  4. ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) เป็นสารสังเคราะห์ที่ใช้ในระบบทำความเย็นต่างๆ และขวดสเปรย์ โดยเฉลี่ยแล้วคงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ประมาณ 15 ปี
  5. ก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) เป็นสารสังเคราะห์ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศได้ยาวนาน โดยจะประกอบไปด้วย CF4, C2F6 และ C3F8 ซึ่งอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานอย่างน้อย 50,000, 10,000 และ 2,600 ปี ตามลำดับ พบได้มากในบางอุตสาหกรรม เช่น อลูมิเนียม เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น
  6. ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) เป็นก๊าซที่อยู่ในชั้นบรรยากาศได้ยาวนานถึง 800-3,200 ปี ส่วนใหญ่จะมาจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น มาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะในการผลิต Circuit Breaker และสวิตช์เกียร์ที่ใช้กับระบบไฟฟ้าแรงสูง
  7. ก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) เป็นสารสังเคราะห์ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานประมาณ 550-740 ปี มีที่มาจากอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น เซมิคอนดักเตอร์ หน้าจอชนิดแบน โซลาร์เซลล์ เป็นต้น

ค่า Emission Factor คืออะไร

Emission Factor เป็นค่ากลางที่กำหนดขึ้นเพื่อปรับหน่วยของก๊าซเรือนกระจกทุกชนิดให้เป็นหน่วยเดียวกัน เช่น ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) หรือ กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kg CO2eq) อธิบายง่ายๆ ก็คือการเทียบกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแง่ของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ถ้าก๊าซเรือนกระจก A ทำให้โลกร้อนขึ้น 20 เท่าของคาร์บอน การปล่อยก๊าซ A จำนวน 1 กิโลกรัมก็จะเท่ากับ 20 กิโลกรัมเทียบเท่าคาร์บอน

สาเหตุที่มีการกำหนดค่า Emission Factor ขึ้นมาก็เพื่อความสะดวกในการสื่อสาร เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดจะมีศักยภาพการกักเก็บความร้อนและมีระยะเวลาในการคงอยู่ที่แตกต่างกัน หรือต่อให้เป็นก๊าซชนิดเดียวกันก็อาจส่งผลกระทบต่างกันได้ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงภายในเครื่องยนต์ หากเลือกใช้น้ำมันที่แตกต่าง ขนาดเครื่องยนต์ไม่เท่ากัน กระทั่งอายุการใช้งานและความเสื่อมสภาพของเครื่องยนต์ ล้วนมีผลต่อระบบเผาไหม้และต่อเนื่องไปถึงผลกระทบที่ต่างกัน

สำหรับตัวอย่างข้อมูลค่า Emission Factor ของเชื้อเพลิง กิจกรรมจากยานพาหนะ การบำบัดน้ำเสีย และกิจกรรมประเภทอื่นๆ แต่ละชนิดนั้นสามารถดูได้ที่ เอกสารค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) รวบรวมมาจากข้อมูลทุติยภูมิ สำหรับการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร

ผลกระทบของก๊าซเรือนกระจก

ก๊าซเรือนกระจกเมื่อมีปริมาณมากจนเกินสมดุล ก็จะกักความร้อนไว้มากเกินไป ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) และภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ตามมา

ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดอ้างอิงจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงกันยายน 2024 จะอยู่ที่ 1.54°C เหนืออุณหภูมิเฉลี่ยในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และค่าเฉลี่ยคาดการณ์ของทั้งปีจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ

แม้ตัวเลขในช่วงสั้นๆ แค่เพียงปีเดียวนี้ จะไม่สามารถบ่งบอกถึงสถานการณ์ภาวะโลกร้อนได้อย่างแม่นยำ และค่าเฉลี่ยในช่วง 20-30 ปี ที่ใช้กันทั่วไปจะยังไม่เกินค่าแนะนำที่มาจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งกำหนดเป้าหมายไว้ที่ไม่เกิน 1.5°C เหนืออุณหภูมิเฉลี่ยในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่แนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยที่ย่ำแย่ลงในแต่ละปี ก็เป็นสัญญาณเตือนให้ทั่วโลกต้องเร่งปรับเปลี่ยนเข้าสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ให้ได้โดยเร็ว

วิธีลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับคนทั่วไป

อัตราส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของคนทั่วไป หากคิดเป็นรายบุคคลแล้วอาจไม่ใช่ปริมาณที่มากมายนัก แต่เมื่อรวมกันหลายคนก็ส่งผลกระทบได้เช่นกัน เราสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ด้วยการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันดังนี้

  • ใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งหลังใช้งาน เลี่ยงการเปิดโดยไม่จำเป็น เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติประหยัดพลังงาน ซ่อมบำรุงให้อยู่ในสภาพดีเสมอ และในกรณีของเครื่องปรับอากาศก็ไม่ควรเปิดให้อุณหภูมิต่ำจนเกินไป
  • พิจารณาติดโซลาร์เซลล์ เพื่อให้สามารถผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดจากธรรมชาติ
  • เดินทางให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เส้นทางเดียวกันไปด้วยกัน ใช้ระบบขนส่งมวลชน วางแผนเดินทางไปยังสถานที่ใกล้กันในคราวเดียวกัน เป็นต้น นอกจากนี้ในกรณีที่ใช้ยานยนต์ส่วนตัว ก็ควรหมั่นดูแลเครื่องยนต์ให้มีสภาพสมบูรณ์อยู่เสมอ และอาจพิจารณาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทนยานยนต์สันดาป
  • ลดปริมาณขยะ ขยะที่เราทิ้งไม่ว่าจะถูกจัดการด้วยการฝังกลบหรือใช้เตาเผาก็จะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก การใส่ใจลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นจึงมีความสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้เช่น เลี่ยงการซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น ลดการใช้สิ่งของแบบใช้แล้วทิ้ง หันมาใช้ระบบดิจิทัลแทนกระดาษ แยกขยะอย่างเหมาะสมเพื่อส่งเสริมการรีไซเคิล เป็นต้น
  • กินแบบรักษ์โลก เลี่ยงการกินเหลือหรือกินในปริมาณมากเกินควร เน้นกินอาหารที่มาจากพืชมากขึ้น ลดสัดส่วนอาหารที่มาจากสัตว์ (ข้อมูลปัจจุบันพบว่า อาหารที่มาจากพืชจะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าอาหารที่มาจากสัตว์ประมาณ 10-50 เท่า)

วิธีลดก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กร

สำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กร ก็อาจทำได้เช่น ประหยัดไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดในสัดส่วนที่มากขึ้น ใช้ระบบดิจิทัลแทนกระดาษ ส่งเสริมการทำงานจากที่บ้านเพื่อลดการเดินทาง ปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรและระบบโลจิสติกส์ เป็นต้น แต่ในกรณีที่ต้องการทำให้เป็นระบบและสามารถเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมเต็มที่ ก็ควรตั้งเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions อย่างจริงจัง

Carbon Neutrality หรือ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” คือสภาวะที่ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปรับลดร่วมกับถูกชดเชย จนเหลือปริมาณสุทธิที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเป็นศูนย์

ส่วน Net Zero Emissions หรือ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” คือสภาวะที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถูกปรับลด ร่วมกับถูกดูดกลับหรือกักเก็บไว้บางส่วน จนเหลือปริมาณสุทธิที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเป็นศูนย์

แม้เมื่อเทียบกันแล้ว เป้าหมาย Net Zero Emissions จะทำได้ยากกว่า แต่ก็มีความจำเป็นต่อการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ องค์กรส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะตั้งเป้าหมายทั้งคู่ แต่มักเลือกที่จะบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ก่อน แล้วค่อยพัฒนาต่อยอดไปสู่ Net Zero Emissions ในภายหลัง

การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions นั้น นอกจากจะมีผลดีในแง่ของสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ยังมีความสำคัญต่อการหลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้าที่เกิดจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ หรือที่เรียกกันว่า “กำแพงสีเขียว” รวมถึงช่วยลดผลกระทบจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของไทยเราเอง เช่น พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง ณ เดือนธันวาคม 2024 ยังคงมีสถานะเป็นร่างอยู่

REC อีกหนึ่งตัวช่วยลดก๊าซเรือนกระจก

REC หรือ Renewable Energy Certificate คือ ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งสามารถซื้อขายและใช้อ้างสิทธิ์การใช้ไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาดได้ เหมาะสำหรับทุกองค์กรที่ต้องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาด ต้องการบรรลุเป้าหมาย RE100 หรือพัฒนาองค์กรตามแนวคิด ESG รวมถึงการต่อยอดไปสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ขึ้นอย่าง Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions

ด้วยข้อดีของ REC ที่มีความสะดวกและมีความยืดหยุ่นสูง องค์กรต่างๆ สามารถเริ่มต้นซื้อได้เลยโดยไม่ต้องคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ทั้งการทราบค่าการซื้อไฟฟ้าและการกำหนดเป้าหมายด้านพลังงานสะอาดที่ชัดเจนก็สามารถทำได้ง่าย REC จึงมักเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่หลายองค์กรเลือกใช้สำหรับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการซื้อขาย REC ในประเทศไทยนั้นยังเป็นภาคสมัครใจ ไม่มีการกำหนดราคากลาง ผู้ซื้อจึงเกิดความเสี่ยงว่าอาจต้องจ่ายแพงเกินควร นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีขั้นตอนของการค้นหาผู้ผลิต ตรวจสอบความน่าเชื่อถือและความพร้อม รวมถึงการเจรจาต่อรองที่มีความยุ่งยากและอาจต้องใช้เวลานานอีกด้วย

ในส่วนนี้ ทาง REC Thailand ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจัดหาใบรับรอง REC คุณภาพสูง ก็สามารถช่วยดูแลได้ครบทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ รวมถึงช่วยสืบข้อมูลราคาอย่างถี่ถ้วนจากบรรดาผู้ผลิตตามรายละเอียดความต้องการของผู้ซื้อ เพื่อให้ได้ REC ที่มีราคาเหมาะสม

REC Thailand ผู้ให้บริการชั้นนำด้าน REC ในไทย

REC Thailand เป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดหาและส่งมอบ REC ที่มีคุณภาพสูง ไม่ว่าองค์กรของท่านจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ผลิต มีเป้าหมาย Carbon Neutrality หรือ Net Zero Emissions หรือมีความต้องการเฉพาะในรูปแบบใด เราก็พร้อมที่จะให้คำปรึกษาและช่วยดูแลในทุกขั้นตอน มั่นใจได้ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี ในอุตสาหกรรมพลังงานผ่านหลายบริษัทในเครืออย่าง GMS Interneer และ GMS Solar

ที่ผ่านมา REC Thailand ได้ร่วมเคียงข้างหลากหลายองค์กรในการมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ผ่านการซื้อ REC โดยเราสามารถนำเสนอให้ได้ทุกเทคโนโลยีที่มีการผลิตในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ หรือพลังงานชีวมวล นอกจากนี้เรายังมีเครือข่ายโรงไฟฟ้าที่มีการขึ้นทะเบียนกับ I-REC ในหลากหลายประเทศ ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

หรือหากองค์กรของท่านกำลังมองหาคาร์บอนเครดิต เราก็สามารถจัดสรรให้ได้เช่นเดียวกันทั้งมาตรฐาน T-VER ของประเทศไทย หรือมาตรฐานระดับสากล เช่น Verra และ Gold Standard ครอบคลุมทั้งรูปแบบโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถติดต่อรับคำปรึกษาได้ที่ GMS Solar

Scroll to Top