จากภาวะโลกร้อน (Global Warming) สู่ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้พุ่งสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ในเดือนกรกฎาคม 2023 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมนี้ยังแสดงออกมาให้เห็นผ่านภัยธรรมชาติต่างๆ ที่รุนแรงมากขึ้น เช่น น้ำท่วม พายุ ภัยแล้ง ฯลฯ จึงเกิดเป็นวาระเร่งด่วนที่องค์กรและประเทศต่างๆ จะต้องบรรลุเป้าหมาย Net Zero ให้ได้ในอนาคตอันใกล้
Net Zero คืออะไร
Net Zero หรือ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” คือสภาวะที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถูกปรับลด ร่วมกับถูกดูดกลับหรือกักเก็บไว้บางส่วน จนเหลือปริมาณสุทธิที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเป็นศูนย์ ทั้งนี้ก็เพื่อลดผลกระทบของก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน
ยกตัวอย่างเช่น องค์กร A ซึ่งมีเป้าหมาย Net Zero เริ่มต้นด้วยการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร จากนั้นก็วางแผนลดด้วยแนวทางต่างๆ เช่น ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร เพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ผลักดันเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่คู่ค้าใน Supply Chain ฯลฯ ส่วนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยังเหลืออยู่ ก็ใช้แนวทางการดูดกลับหรือดักจับเข้ามาช่วยเสริม เช่น ทำโครงการปลูกป่า ใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนในดิน ซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการปลูกป่า เป็นต้น
หรืออาจสรุปเป้าหมาย Net Zero แบบง่ายๆ ได้ดังสมการ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร – ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปรับลดได้ – ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ดูดกลับหรือกักเก็บไว้ = 0
ก๊าซเรือนกระจกคืออะไร ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้อย่างไร
ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gasses) คือก๊าซในชั้นบรรยากาศที่มีคุณสมบัติกักความร้อน มีหน้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ระบายออกนอกโลกไปหมด ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต เพราะจะช่วยให้อุณหภูมิของโลกไม่ลดต่ำจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม ด้วยพฤติกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น เช่น การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาป่า การเผาขยะ ฯลฯ เมื่อรวมกับการทำลายธรรมชาติที่มีส่วนช่วยกำจัดก๊าซเรือนกระจก เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การทำลายหน้าดิน ฯลฯ ก็มีผลทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่มากเกินพอดีจนเกิดเป็นภาวะโลกร้อนตามมา
ทั้งนี้ ก๊าซเรือนกระจกแม้จะมีหลายชนิด แต่ที่มีความสำคัญและใช้ในการประเมินจะมีอยู่ 7 ชนิดหลักๆ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีปริมาณการปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด รองลงมาคือก๊าซมีเทน
ซึ่งแม้ก๊าซมีเทนจะมีสัดส่วนปริมาณในชั้นบรรยากาศน้อยกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่หากมองที่การสะสมพลังงานความร้อนก็จะพบว่า ค่าของมีเทนนั้นมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 84 เท่า โดยก๊าซมีเทนจะเกิดได้ทั้งจากกิจกรรมของมนุษย์และจากธรรมชาติ อย่างเช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การเกษตรและปศุสัตว์ การย่อยสลายของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เป็นต้น
นโยบาย Net Zero มีอะไรบ้าง
เป้าหมาย Net Zero ได้รับแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่เกิดขึ้นในปี 2015 ซึ่งเป็นความตกลงในระดับนานาชาติที่มุ่งเน้นให้ทุกประเทศสมาชิกร่วมกันรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5°C เทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม เพื่อจำกัดผลกระทบที่มีต่อโลกและสิ่งมีชีวิต
โดยหนทางหลักสู่เป้าหมายดังกล่าวก็คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 43% ภายในปี 2030 และเข้าสู่ Net Zero ให้ได้ภายในประมาณช่วงปี 2050
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่กำหนดโดยแต่ละประเทศก็อาจต่างกันไปตามแต่บริบท ตัวอย่างเช่น ประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศแห่งฐานการผลิต ก็ได้กำหนดเป้าหมายการเข้าสู่ Net Zero เป็นภายในปี 2060 และ 2070 ตามลำดับ
ในส่วนของประเทศไทยนั้น ก็ได้มีการประกาศเป้าหมายหลังเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติ COP26 เมื่อปี 2021 ว่าจะเข้าสู่ Carbon Neutrality (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) ให้สำเร็จลุล่วงภายในปี 2050 และเข้าสู่ Net Zero ให้ได้ภายในปี 2065
ซึ่งในส่วนของข้อกฎหมายภายใต้นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของไทยที่สามารถช่วยสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างเด่นชัดที่สุดก็จะมี พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ (ณ เดือนพฤศจิกายน 2024 ยังมีสถานะเป็นร่าง พ.ร.บ. โดยอยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความเห็น) หรือที่บางคนนิยมเรียกว่า พ.ร.บ. โลกร้อน หรือ พ.ร.บ. Climate Change โดยมีใจความสำคัญ เช่น
- จัดตั้ง “คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” ให้มีอำนาจกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย
- จัดตั้ง “กองทุนภูมิอากาศ” ให้การสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกครอบคลุมทุกมิติ
- กำหนดให้จัดทำ “แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ” พร้อมรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและจัดทำฐานข้อมูลในภาพรวมของประเทศ
- กำหนดให้จัดทำ “บัญชีก๊าซเรือนกระจก (GHG Inventory)” ภาคบังคับ ให้หน่วยงานรัฐมีอำนาจขอข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผู้ประกอบการพลังงานและผู้ประกอบกิจการโรงงานใน 15 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตไฟฟ้า การก่อสร้าง การขนส่ง เหมืองถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อโลหะ เคมี โลหะ ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง อิเล็กทรอนิกส์ การใช้สารทดแทนสารทำลายชั้นโอโซน การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า กระดาษและเยื่อกระดาษ อาหารและเครื่องดื่ม และเกษตรและปศุสัตว์
- กำหนด “ระบบซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme, ETS)” เพื่อเป็นกลไกภาคบังคับในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยภาครัฐจะมีการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวม และจัดสรรสิทธิ์ให้กับองค์กรในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกควบคุม ซึ่งจะมีทั้งการจัดสรรแบบให้เปล่าและแบบประมูล
- กำหนด “ภาษีคาร์บอน” ในอัตราก้าวหน้าสำหรับสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เพื่อเป็นกลไกภาคบังคับในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- กำหนด “กลไกการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน” เพื่อป้องกันปัญหาการย้ายฐานการผลิตและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปต่างประเทศ ซึ่งเกิดจากกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทยที่เข้มงวดขึ้น
- กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำฐานข้อมูลกลางด้านภูมิอากาศ เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลสำหรับคาดการณ์ รวมถึงประเมินความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ รวมทั้งจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้ง 6 สาขา ได้แก่ น้ำ เกษตร ท่องเที่ยว สาธารณสุข ทรัพยากร และตั้งถิ่นฐาน
- กำหนดให้มีการนำค่าปรับที่ได้จากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถจัดทำรายงานคาร์บอนและดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แม้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยซึ่งมีมูลค่ารวมถึง 6.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 37% ของ GDP อ้างอิงจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย แต่ก็จะมีส่วนสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของประเทศภายในปี 2065 รวมถึงช่วยหลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้าที่เกิดจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ หรือที่เรียกกันว่า “กำแพงสีเขียว”
Net Zero ต่างจาก Carbon Neutrality อย่างไร
Net Zero หรือ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” หมายถึงสภาวะที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถูกปรับลด ร่วมกับถูกดูดกลับหรือกักเก็บไว้บางส่วน จนเหลือปริมาณสุทธิที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเป็นศูนย์
ส่วน Carbon Neutrality หรือ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” จะหมายถึงสภาวะที่ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปรับลดร่วมกับถูกชดเชย จนเหลือปริมาณสุทธิที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเป็นศูนย์
แม้ทั้งคู่จะมีความใกล้เคียงกัน แต่ก็จะมีจุดต่างหลักๆ คือ
- Net Zero จะให้ความสำคัญครอบคลุมก๊าซเรือนกระจกทั้ง 7 ชนิด คือ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ ในขณะที่ Carbon Neutrality จะพุ่งเป้าไปที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก
- Net Zero จะให้น้ำหนักไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นหลัก และใช้การดูดกลับหรือกักเก็บเป็นส่วนเสริม ในขณะที่ Carbon Neutrality มักจะพึ่งพาการชดเชยคาร์บอนเป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการลดการปล่อยคาร์บอน
โดยสรุปแล้ว Net Zero จะมีขอบเขตที่กว้างกว่า และสามารถบรรลุเป้าหมายได้ยากกว่า แต่ก็นับว่ามีความจำเป็นต่อการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ หลายๆ องค์กรจึงมักจะตั้งเป้าหมายทั้งคู่ แต่เริ่มต้นด้วยการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ก่อน แล้วจึงค่อยพัฒนาต่อยอดไปสู่ Net Zero ในภายหลัง
การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ต่างจาก Carbon Neutrality อย่างไร
การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality สามารถทำได้โดยปรับเปลี่ยนกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม เช่น ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ลดการสูญเสียพลังงานโดยไม่จำเป็น พัฒนาระบบขนส่งให้ปล่อยคาร์บอนลดลง เป็นต้น
อีกส่วนสำคัญก็คือการชดเชยคาร์บอน ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ปลูกป่า สร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้พัฒนาโครงการ ฯลฯ
ส่วนการบรรลุเป้าหมาย Net Zero จะเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งบางส่วนจะคล้ายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ Net Zero มักจะลงลึกไปถึงการปรับลดภายในห่วงโซ่คุณค่าด้วย โดยจะให้ความสำคัญครอบคลุมทั้งในส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากวัตถุดิบและ Supplier
อีกจุดต่างสำคัญก็คือ Net Zero จะต้องมีการดูดกลับหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ทำโครงการปลูกป่า ใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนในดิน หรือในกรณีที่ซื้อคาร์บอนเครดิตก็จะต้องเป็นโครงการดักจับคาร์บอน (Carbon Capture Project) เท่านั้น อย่างเช่น โครงการป่าไม้ ซึ่งจะมีตัวเลือกน้อยและมีราคาสูงกว่าคาร์บอนเครดิตที่เป็นโครงการลดคาร์บอน (Carbon Reducing Project)
REC อีกหนึ่งตัวช่วยสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero
REC หรือ Renewable Energy Certificate คือใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งองค์กรต่างๆ สามารถซื้อและใช้อ้างสิทธิ์การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ฯลฯ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero
การซื้อ REC มักจะเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่หลายองค์กรเลือกใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนหนึ่งก็เพราะสามารถเริ่มต้นทำได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร อีกทั้งการทราบค่าการซื้อไฟฟ้าและการกำหนดเป้าหมายด้านพลังงานสะอาดที่ชัดเจนก็สามารถทำได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการซื้อขาย REC ในประเทศไทยนั้นยังเป็นภาคสมัครใจ ไม่มีการกำหนดราคากลาง ผู้ซื้อจึงเกิดความเสี่ยงว่าอาจต้องจ่ายแพงเกินควร นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีขั้นตอนของการค้นหาผู้ผลิต ตรวจสอบความน่าเชื่อถือและความพร้อม รวมถึงการเจรจาต่อรองที่มีความยุ่งยากและอาจต้องใช้เวลานานอีกด้วย
ในส่วนนี้ ทาง REC Thailand ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจัดหาใบรับรอง REC คุณภาพสูง ก็สามารถช่วยดูแลได้ครบทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ รวมถึงช่วยสืบข้อมูลราคาอย่างถี่ถ้วนจากบรรดาผู้ผลิตตามรายละเอียดความต้องการของผู้ซื้อ เพื่อให้ได้ REC ที่มีราคาเหมาะสม
REC Thailand ผู้ให้บริการชั้นนำด้าน REC
REC Thailand เป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดหาและส่งมอบ REC ที่มีคุณภาพสูง ไม่ว่าองค์กรของท่านจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ผลิต มีเป้าหมาย Carbon Neutrality หรือ Net Zero หรือมีความต้องการเฉพาะในรูปแบบใด เราก็พร้อมที่จะให้คำปรึกษาและช่วยดูแลในทุกขั้นตอน มั่นใจได้ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี ในอุตสาหกรรมพลังงานผ่านหลายบริษัทในเครืออย่าง GMS Interneer และ GMS Solar
ที่ผ่านมา REC Thailand ได้ร่วมเคียงข้างหลากหลายองค์กรในการมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ผ่านการซื้อ REC โดยเราสามารถนำเสนอให้ได้ทุกเทคโนโลยีที่มีการผลิตในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ หรือพลังงานชีวมวล นอกจากนี้เรายังมีเครือข่ายโรงไฟฟ้าที่มีการขึ้นทะเบียนกับ I-REC ในหลากหลายประเทศ ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์
หรือหากองค์กรของท่านกำลังมองหาคาร์บอนเครดิต เราก็สามารถจัดสรรให้ได้เช่นเดียวกันทั้งมาตรฐาน T-VER ของประเทศไทย หรือมาตรฐานระดับสากล เช่น Verra และ Gold Standard ครอบคลุมทั้งรูปแบบโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถติดต่อรับคำปรึกษาได้ที่ GMS Solar